วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จารึกเมืองเสมา ฐานข้อมูลจารึกของประเทศไทย

จารึกเมืองเสมา ฐานข้อมูลจารึกของประเทศไทย


ประวัติความเป็นมา

       เมืองเสมาเป็นเมืองโบราณที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา เชื่อว่าน่าจะเป็นชุมชนเก่าก่อนที่จะย้ายมาที่ตัวเมืองนครราชสีมาปัจจุบัน ประวัติความเป็นมาแบ่งออกได้เป็น ๒ สมัย โดยสมัยแรกเป็นชุมชนวัฒนธรรมแบบทวาราวดี มีการยอมรับเอาวัฒนธรรมอินเดีย คือ ศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่คงขนบธรรมเนียมบางอย่างไว้ เช่น การฝังศพนอนหงายเหยียดยาว รวมทั้งอุทิศสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่ศพ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยที่สอง พบหลักฐานการอยู่อาศัยต่อเนื่องจากสมัยแรกแต่เป็นชุมชนวัฒนธรรมเขมรโดยชนชั้นปกครองจะนับถือศาสนาพราหมณ์ จนภายหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ไม่ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์อีกเลย สันนิษฐานว่าเมืองแห่งนี้อาจถูกทิ้งร้างมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะทั่วไป
       เป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดิน กำแพงเมืองชั้นเดียวรูปกลมรี ๒ วงต่อเนื่องกัน ขนาดยาวประมาณ ๑,๗๐๐ เมตร จากทางด้านทิศเหนือไปทางทิศใต้ และจากทางด้านทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก ความยาวประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร กำแพงหรือคันดินสูง ๓-๔ เมตร คูน้ำกว้างประมาณ ๑๐-๒๐ เมตร ทางด้านใต้ของเมืองมีลำห้วยไผ่ไหลผ่านและห่างออกไปประมาณ ๓ กิโลเมตร มีลำตะคองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำมูลได้ ภายในเมืองเสมามีสภาพเป็นป่าโปร่ง เนื่องจากสภาพพื้นที่ถูกปรับไถปลูกพืชไร่นา ปัจจุบันพื้นที่เมืองเสมาได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้หมดทั้งสิ้นประมาณ ๒,๔๗๕ ไร่ จึงไม่ได้อยู่ในความครอบครองของชาวบ้านอีกต่อไป เมืองโบราณเสมาจึงนับเป็นเมืองที่สมบูรณ์ที่สุดอีกเมืองหนึ่ง แม้ว่าที่ผ่านมาโบราณสถานที่ตั้งอยู่ภายในเมืองเสมาจะถูกลักลอบขุดทำลายเพื่อหาโบราณวัตถุไปจำหน่ายทำให้โบราณสถานมีสภาพทรุดโทรมเป็นอันมาก

หลักฐานที่พบ
       หลักฐานที่พบภายในเมืองเสมา มีโบราณสถานทั้งสิ้น ๙ แห่ง โดย ๖ แห่ง อยู่ในเมืองรูปกลมรี อีก ๓ แห่ง อยู่ด้านทิศเหนือในเมืองวงใหญ่ที่มีรูปค่อนข้างกลม นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกเมืองที่สำคัญอีก ๒ แห่ง คือ พระนอนในวัดธรรมจักรเสมารามและสถูปในวัดแก่นท้าว โบราณสถานทั้งหมดได้รับการขุดแต่ง บูรณะเสริมความมั่นคงและปรับภูมิทัศน์แล้วเสร็จ ยกเว้นสถูปในวัดแก่นท้าว สำหรับโบราณวัตถุ อาทิ ธรรมจักรศิลา จารึกเมืองเสมา จารึกบ่ออีกา และจารึกศรีจนาศะ โดยจารึกบ่ออีกาและจารึกศรีจนาศะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชาแห่งศรีจนาศะมีบุคคลที่ชื่อว่า "อังศเทพ" สร้างศิวลึงค์ทองคำอันเป็นสัญลักษณ์พระอิศวรในลัทธิไศวนิกาย และได้รับดินแดนอยู่นอกกัมพุเทศจารึกหลักนี้ทำขึ้นใน พุทธศักราช๑๔๘๐ ส่วนจารึกเมืองเสมาเป็นจารึกในพุทธศักราช๑๕๑๔ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ กล่าวถึงพราหมณ์ยัชญวราหะสั่งให้ทำจารึกขึ้นไว้ที่เมืองเสมา (พบจารึกหลักนี้ที่โคปุระ) เพื่อแสดงอำนาจเมือง พระนครแห่งอาณาจักรเขมร
       ทุกวันที่ ๑๕ ของเดือนจะมีกิจกรรมทำบุญบวงสรวงเลี้ยงเจ้าเมืองเสมา โดยกลุ่มอนุรักษ์และประชาชนในตำบลเสมา

             ด้านที่1          ด้านที่2              ด้วนที่3  

ชื่อจารึกจารึกเมืองเสมา  
อักษรที่มีในจารึกขอมโบราณ
ศักราชพุทธศักราช  ๑๕๑๔
ภาษาเขมร, สันสกฤต
ด้าน/บรรทัดจำนวนด้าน ๓ ด้าน มี ๘๓ บรรทัด ด้านที่ ๑ มี ๒๕ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๒๗ บรรทัด ด้านที่ ๓ มี ๓๑ บรรทัด
วัตถุจารึกศิลา ประเภทหินทรายสีเทา
ลักษณะวัตถุหลักสี่เหลี่ยม
ขนาดวัตถุกว้าง ๔๖ ซม. สูง ๙๙ ซม. หนา ๑๐ ซม.
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ
๑) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นม. ๒๕"
๒) ในหนังสือ  Nouvelles Inscriptions du Cambodge II กำหนดเป็น “Stele de Sema (Korat) (K. 1141)”
๓) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม ๓ กำหนดเป็น “จารึกเมืองเสมา”
ปีที่พบจารึกพุทธศักราช ๒๕๒๖
สถานที่พบเมืองเสมา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา
ผู้พบไม่ปรากฏหลักฐาน
ปัจจุบันอยู่ที่หน่วยศิลปากรที่ ๖ จังหวัดนครราชสีมา
พิมพ์เผยแพร่
๑) Nouvelles InscriptionsduCambodge II (Paris : École Française d’Extrême-Orient, 1941), 114-119.
๒) จารึกในประเทศไทย เล่ม ๓ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๙), ๑๐๕-๑๑๗. 
ประวัติ
ด้วยราษฎรตำบลเสมา ได้พบจารึกนี้ และนำมามอบให้ทางราชการกรมศิลปากร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๖
เนื้อหาโดยสังเขป
เริ่มต้นด้วยการกล่าวคำนมัสการเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ได้แก่พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม พระอุมา และพระสรัสวดี จากนั้นได้กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ หรือพระบาทบรมวีรโลกว่าทรงเป็นโอรสของพระเจ้าราเชนทรวรมัน และทรงสืบเชื้อสายมาจากจันทรวงศ์ (โสมานฺวย) กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ ว่าได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจไว้อย่างไรบ้าง สุดท้ายก็ได้กล่าวถึงข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้สร้างเทวรูปและพระพุทธรูปไว้หลายองค์ พร้อมทั้งถวายทาสและสิ่งของต่างๆ แด่ศาสนสถานไว้อีกด้วย
ผู้สร้างไม่ปรากฏหลักฐาน
การกำหนดอายุ
จารึกด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๒ บอกมหาศักราช ๘๙๓ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๕๑๔




แหล่งที่มา :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น